"กระดูก" เป็นอวัยวะ "สำคัญ" อวัยวะหนึ่งที่ต้องดูแลก่อนที่อวัยวะชิ้นนี้จะ "สึกกร่อน" กลายเป็น "มหันตภัยต่อร่างกาย" ด้วยการป่วยเป็น "โรคกระดูกพรุน" นพ.วีรยุทธ เชาวป์ปรีชา ผู้อำนวยการแพทย์โรงพยาบาลวิภาวดี เปิดเผยข้อมูลว่า จากสถิติขององค์การอนามัยโลก ทุก 30 วินาที จะมีผู้ป่วยที่กระดูกหักจากภาวะโรคกระดูกพรุนทั่วโลก 1 คน
"ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน ทั้งกระดูกสะโพกหัก ปวดหลัง หลังโก่ง เดินไม่ได้ ทั้งหมดเกิดจากสาเหตุภาวะโรคกระดูกพรุนทั้งสิ้น"
สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนและหักง่าย นพ.วีรยุทธ บอกว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคไทรอยด์ ผู้ที่ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ขาดสารอาหารได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ผู้ที่ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือกินยาสเตียรอยด์เป็นประจำ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน หรือได้รับการตัดรังไข่แล้ว ผู้ที่ดื่มสุรา สูบบุหรี่เป็นประจำ ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง แล้วยังคงใช้ชีวิตอย่างประมาทไม่ระวังตัว หากได้รับอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย เช่น นั่งรถกระแทก โอกาสกระดูกหักก็มีสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และหากมีภาวะแทรกซ้อนจากการที่กระดูกหัก อาการอาจรุนแรงถึงขั้นพิการ หรือไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้
"วิธีง่ายๆ ในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รักประทานอาหารที่มีแคลเซียม นอกจากนี้การเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุกปี จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ เพราะหลังจากที่กระดูกหยุดเติบโตอายุ 30 ปีแล้ว ความหนาแน่นของกระดูกสามารถสร้างขึ้นทดแทนการสึกกร่อนได้"
ข้อมูลจาก : มติชน