ทีวี.... อันตรายใกล้ตัวลูกน้อย

เขียนโดย พญ.ปิยาภรณ์ บวรกีรติขจร อังคาร, 19 กุมภาพันธ์ 2008 โทรทัศน์ ไม่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ช่วงเวลา 0 - 6 ขวบ...ถือเป็นช่วงวัยทองของสมองมนุษย์ ต้องการการกระตุ้น จากมนุษย์ด้วยกัน อันหมายถึงพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู จะต้องสื่อสารกับเด็ก...สนับสนุนเด็กให้เรียนรู้ สิ่งรอบข้างตามธรรมชาติ ส่งเสริมพัฒนาการด้วยการเล่น การอ่านหนังสือ การพูดคุย
"ไม่ควรให้เด็กดูโทรทัศน์...อย่าให้สนใจทีวีหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่มีชีวิต" ผลวิจัยในต่างประเทศแนะนำว่า...เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวี...เล่นวีดิโอเกม เด็กวัยนี้เป็นวัยที่พ่อแม่ต้องให้เวลากระตุ้นพัฒนาการและสื่อสารกับเด็ก เกิดผลเสียในแง่...ไม่ประเทืองสมองและปัญญา ระหว่างดูโทรทัศน์ นานๆ ทำให้เด็กติดพฤติกรรม...นั่งและกิน"ยิ่งโตขึ้น...ก็ยิ่งใช้เวลาดูทีวีมากขึ้น นอกจากนี้ เด็กยังใช้เวลาไปกับสื่ออื่นอีก เช่น ท่องอินเตอร์เน็ตกับเรื่องไร้สาระ แชทรูม ดูหนังโป๊..."
งานวิจัยของ พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบห้ามดูทีวี...ต้องย้ำเตือนให้พ่อแม่...ผู้ปกครอง เลี้ยงลูกด้วยความระมัดระวังมากขึ้น...
พ.ญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ บอกอีกว่า ปัญหาวัยรุ่นไทยในวันนี้...อาจนำไปสู่วิกฤติของสังคมไทย ในอนาคต เด็กส่วนมากขาดการกระตุ้นพัฒนาการแบบองค์รวม
ผลกระทบจากโทรทัศน์ต่อเด็ก มนุษย์นั้นเรียนรู้จากการเลียนแบบ การเลียนแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เด็กเรียนรู้ที่จะพูด เดิน กิน และทำตามอย่างพ่อแม่ กระบวนการนี้จะเกิดต่อเนื่องไปจนโต ในทำนองเดียวกัน ภาพที่เด็กเห็นจากโทรทัศน์ ล้วนมีผลให้เด็กซึมซับเป็นแบบอย่างทั้งสิ้น โทรทัศน์จะมีผลกระทบต่อเด็กมากน้อยเพียงไร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ จำนวนเวลาที่ดู อายุและพื้นฐานบุคลิกภาพของเด็ก การปล่อยให้เด็กดูคนเดียวหรือดูกับผู้ใหญ่ และพ่อแม่ได้พูดคุยอธิบายถึงสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ให้ลูกเข้าใจหรือไม่
สถานการณ์ผลกระทบในเด็กไทย จากงานวิจัยเอแบคโพลล์ ในปี 2546 เรื่อง " ผลกระทบสื่อโทรทัศน์ต่อเด็ก" พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองสังเกตเห็นว่ารายการโทรทัศน์มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในระดับปานกลางค่อนไปทางมาก ตั้งแต่การซื้อสินค้าตามโฆษณา (เด็กจะใช้เงินซื้อของเล่นและขนมตามโฆษณาประมาณร้อยละ 46.4 ของเงินที่ได้รับ) การเลียนแบบท่าทางในการ์ตูน การเลียนแบบทั้งการแต่งตัว คำพูดก้าวร้าว ใช้คำด่า ชกต่อย ตบตี
นอกจากนี้ พ่อแม่ยังกังวลเรื่อง"เซ็กส์ล้นจอ" ซึ่งมาจากหนังต่างประเทศ ละครก่อน/หลังข่าว การ์ตูนญี่ปุ่น/ฝรั่ง มิวสิควีดีโอเพลง และการแต่งกายของพิธีกร ตามลำดับ ซึ่งพฤติกรรมทางเพศที่มักพบในโทรทัศน์ที่จะส่งผลต่อเด็ก ได้แก่ การแต่งกายหวาบหวิว ค่านิยมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การแสดงออกทางเพศในที่สาธารณะ ไปจนถึงฉากกอดจูบลูบคลำ ในด้านความรุนแรง พ่อแม่ร้อยละ 18.3 ระบุว่าสื่อโทรทัศน์กระตุ้นความรุนแรงในเด็ก โดยมาจาก หนังต่างประเทศ กีฬารุนแรง เช่น มวยปล้ำ การ์ตูนญี่ปุ่น ละครหลังข่าว และข่าว ตามลำดับ
ข้อมูล : โครงการยุทธศาสตร์สื่อเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.)จาก thaibreastfeeding.com 3 พค.50