ทีวี..อันตรายใกล้ตัวลูกรัก ตอนที่ 1
ผมได้พบเด็กจำนวนมาก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่พาลูกมาปรึกษาด้วยเรื่องพูดช้า พัฒนาการทางภาษาช้า ไม่ค่อยทำตามสั่ง บางคนอายุ 2 -3 ขวบ แล้วแต่ยังไม่พูด หรือพูดได้เป็นคำเดี่ยวๆ นานๆ พูดครั้ง ส่วนใหญ่มักพูดเป็นภาษาที่ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อได้วินิจฉัยแยกโรคแล้วว่าไม่ใช่สาเหตุจากการได้ยินผิดปกติ ไม่ใช่เด็กออทิสติก และไม่ได้เกิดจากความบกพร่องทางสติปัญญาแล้ว ประวัติที่สำคัญอีกอันหนึ่งซึ่งมีความสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกดูทีวีมากเกินไปหรือไม่ โดยทั่วไปปัญหาจะ เกิดกับเด็กที่ดูนาน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ใช่แค่ 1-2 ชั่วโมง และมักไม่ใช่เด็กที่ดูทีวีแบบช่วงสั้น เช่นดู แต่โฆษณาบางอันที่ชอบ แล้วไป เล่น แต่มักเป็นเด็กที่สนใจดูต่อเนื่อง 30 นาที บางครั้งเป็นชั่วโมง ถ้าเป็นวิดีโอซีดีก็สนใจดูจนจบแผ่น อาจดูซ้ำๆ หลายรอบ และมักมี อารมณ์ร่วมกับเนื้อหาที่ดู มีหัวเราะลุก ขึ้นเต้นตาม เด็กบางคน เริ่มสนใจดูทีวีตั้งแต่อายุยังน้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น อายุเพียง 9 เดือนเท่านั้น และมักดูต่อเนื่องมาเรื่อยๆ และนานขึ้น เรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น เด็กกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เนื่องจากจากการ ขาดการกระตุ้น ขาดการมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดู ทางการแพทย์ใช้คำว่า Improper stimulation หรือ Psychosocial deprivation เดิมเด็กกลุ่มนี้ คือ เด็กที่อยู่ตามสถานสงเคราะห์ พ่อแม่ทิ้ง เจ้าหน้าที่เลี้ยงดู เด็กงานมาก ต้องดูแลเด็กหลายคนจึงไม่มีเวลาเล่นหรือพูดคุยกับเด็ก เด็กมักอยู่คนเดียวตามลำพัง ขาดการกระตุ้นจากผู้ใหญ่ มักพัฒนาการด้านภาษาและสังคมช้า ไม่ค่อยพูด ซึม ไม่ค่อยยิ้ม นั่งโยกตัว เล่นคนเดียว
ตัวอย่างที่ผมได้พบ คือ มีเด็กรายหนึ่งอายุ 2 ปี มาด้วยยังไม่พูด คุณแม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเอง แม่ชอบเปิดโทรทัศน์ให้ดูเกือบตลอดวันเพราะเห็นว่าลูกชอบและนิ่งดี ไม่ซน แม่จะได้มีเวลาทำงานบ้านได้สะดวก คุณแม่ท่านนี้ไม่ได้ตั้งใจจะทำร้ายพัฒนาการลูกทางอ้อม แต่ทำไปเพราะไม่รู้เห็นว่าลูกมีความสุขดี ตัวเองก็จะได้ทำงานบ้านได้สะดวก อีกรายหนึ่ง อายุประมาณ 2 ปี 6 เดือน ดูวิดีโอซีดีรายการของเด็ก เช่น เทเลทับบี้ บาร์นี่ ซึ่งเป็นภาคภาษาอังกฤษ โดยให้ดูตั้งแต่อายุเพียง 1 ขวบเพราะคิดว่าลูกจะได้หัด ฟังและพูดภาษาอังกฤษ แต่ผลกลับตรงกันข้ามคือลูกกลับพูดช้า มีแต่ภาษาแปลกๆ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียกไม่ค่อยหัน ไม่ทำตามสั่ง
ทีวีแทนคนไม่ได้
เมื่อ 100 กว่าปีก่อน... มนุษย์ยังไม่รู้จักโทรทัศน์ ทางเดียวที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันก็คือการพูด ลูกของมนุษย์เรียนรู้การพูดผ่านการมี ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ แต่ปัจจุบันเด็กเล็กๆ หลายคนเติบโตมาพร้อมกับจอสี่เหลื่ยมที่เหมือนมีคน อยู่ข้างใน พูดคุยได้ หัวเราะได้ ร้องไห้ได้ ยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยก้าวหน้าทำให้มี สื่อหลายรูปแบบมากขึ้น จากรายการโทรทัศน์ธรรมดา ก็มี รายการจากเคเบิลทีวี ซึ่งมีให้ดู ตลอด 24 ชั่วโมง เวลาสี่ทุ่มแล้วก็ยังมีรายการการ์ตูนให้ดู และจากวิดีโอเทปก็พัฒนาเป็นวิดีโอซีดี เปิดปิดได้ง่ายเพียงปลายนิ้วกด เพราะฉะนั้นเด็ก 2-3 ขวบ บางคนอาจกดวิดีโอซีดีดูเองได้ตามต้องการ นอกจากนี้ถ้าใครมีลูกหลานจะเห็นว่าเด็กหลายคน ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่ชอบจากวิดีโอซีดี ซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น 10 ครั้ง โดยไม่เบื่อหน่าย ดูจนจำตอนได้หมดก็ยังดู
ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดปัญหาก็เพราะทีวีนั้นต่างกับคนตรงที่การดูทีวีนั้นเป็นการสื่อสารทางเดียว (One way communication) คือ ไม่ว่าเด็กจะยิ้ม หัวเราะ หรือพยายามสื่อสารทางกายด้วย ทีวีไม่เคยตอบสนองกลับคืนมาเลย มันจะส่งภาพและเสียงออกมาตามสัญญาณโทรทัศน์ที่ได้เท่านั้น ทีวีหรือวิดีโอซีดีจึงแทนความสัมพันธ์กับคนไม่ได้ เด็กที่ดูทีวีตลอดวันจึงเรียนรู้แต่การรับ อย่างเดียว ไม่เรียนรู้การส่ง หรือการสื่อสารออกไป
ทฤษฏีการตัดแต่งกิ่งไม้
งานวิจัยต่างๆ ในปัจจุบันให้เราเข้าใจเหตุปัจจัยที่มีผลต่อสมอง และพัฒนาการมากขึ้น พอที่จะนำมาอธิบายว่าทำไมเด็กที่ทีวีมากๆ จึงมีปัญหาพูดช้า พัฒนาการทางภาษาช้า นั่นคือเรื่องการตัดแต่งกิ่งไม้ (prunning) หรือการสูญหาย ไปของจุดเชื่อมต่อของใยประสาทในสมองกล่าวคือในสมองของคนเราจะมีเซลล์ประสาทสมอง (neurons) และมีใยประสาท (dendrite) จำนวนมากรับกระแสประสาทขาเข้า ซึ่งส่งมาจากส่วนส่งออก (axon) ของเซลล์ประสาทอื่นด้วย เซลล์ประสาทสมองจะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยสั่งการเป็นกระแสไฟฟ้าและสารเคมีไปสื่อสารกับเซลล์อื่น เรื่องน่าแปลกก็คือในเด็กเล็กนั้นธรรมชาติจะกำหนดให้สร้างใยประสาทในสมองเป็น 2 เท่าของจำนวนที่ใช้จริง เซลล์ประสาทที่ใช้ บ่อยๆจะรวมกันเป็นกลุ่ม ทุกอย่างที่เด็กถูกกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่น การเห็น การได้ยิน การสัมผัส การกระตุ้นเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าไปยังจุดเชื่อมต่อของใยประสาท (synapse) เพื่อสื่อสารกับเซลล์ประสาทสมองอื่นๆ จุดเชื่อมต่อที่แข็งแรงจะถูกเลือกเก็บไว้ ถ้าไม่ถูกใช้ จุดเชื่อมต่อใยประสาท ที่ไม่ได้สื่อสารกับเซลล์ประสาทสมองอื่นจะหมดสภาพ คล้ายการเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นในที่สุดจะลีบฝ่อตายไป เหมือนการแต่งกิ่งของต้นไม้ (pruning) คือ อันไหนไม่ใช้ก็ตัดทิ้งไป (use it or lose it) ประมาณกันว่าเด็กจะเสียจุดเชื่อมต่อใยประสาทประมาณ 20 พันล้านต่อวัน การกระตุ้นให้จุดเชื่อมต่อใยประสาท ทำงานอย่างเหมาะสมจะทำให้สมองส่วนนั้นทำงานเต็มที่ ถ้าถูกกระตุ้นให้ใช้ ใยประสาทก็จะแข็งแรงไม่ฝ่อไป แต่ไม่ถูกกระตุ้นใยประสาทของสมองส่วนนั้นอาจฝ่อไป ตัวอย่างการเลือกเก็บใยประสาท ได้แก่การเรียนรู้ทางภาษา สมองของเด็กเปิดรับรู้ภาษาตั้งแต่แรกเกิด ถ้าได้รับการกระตุ้น และเรียนในวัยเด็กเล็กก็จะมีสามารทางภาษาดีกว่าไปเรียนภาษาเมื่อโตแล้ว ดังนั้นจึงอธิบายได้ว่าเด็กที่ดูแต่โทรทัศน์ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว เกือบตลอดวันนาน 6-8 ชั่วโมงโดยสนใจจดจ่ออยู่แต่จอทีวี ไม่สนใจผู้คนหรือสิ่งรอบข้าง เด็กก็จะขาดเวลาและโอกาสที่จะได้รับการกระตุ้นทางการพูดคุย และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ เซลล์ประสาทสมองที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นก็จะไม่ได้รับการกระตุ้น เด็กกลุ่มนี้อาจ เรียนรู้ที่จะรับอย่างเดียว ไม่เรียนรู้ที่จะส่งหรือสื่อสารออกไป เพราะทีวีไม่เคยสนใจหรือตอบสนองต่อการส่งหรือสื่อสารของเด็ก เด็กกลุ่มนี้จึงพูดช้า ไม่ค่อยทำตามสั่ง
กฏและคำเตือนที่เราไม่ค่อยรู้
เมื่อโทรทัศน์มีผลกระทบต่อพัฒนาการด้านภาษาและสังคมมากดังได้พูดคุยกันไปแล้ว สมาคมกุมารแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงออกกฏและคำเตือนให้ยึดถือและปฏิบัติในเรื่องการให้เด็กดูโทรทัศน์ ดังนี้คือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์เลย (ย้ำนะครับว่าไม่ควรให้ดูโทรทัศน์เลย) และเด็กที่อายุเกิน 2 ปีก็ควรดูไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน มีแต่เลข 2 จำง่ายดีครับ ผมคิดว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีมาก แต่ในประเทศไทยมีคนพูดถึง หรือให้ความสำคัญน้อยมาก ฝากคุณพ่อคุณแม่ช่วยบอกและเตือนกันต่อๆ ไปด้วยครับ
มาเล่นกับลูกกันเถอะ
หลังจากได้ปรึกษาแพทย์แล้ว การช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ก็คือ การแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ปิดทีวีเสีย (บางบ้านต้องเอาทีวีไปเก็บซ่อนไว้เลย เพื่อไม่ให้เด็กเห็น) แล้วลงมาเล่นกับลูกแบบมีปฏิสัมพันธ์ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ ไล่จับ ซ่อนหา หรือนั่งต่อเลโก้ด้วยกัน เล่นอะไรก็ได้ที่มี รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มีการพูดคุยโต้ตอบกันกับลูก (ซึ่งทีวีทำแบบนี้ไม่ได้แน่) การเล่นมีความหมายสำหรับพัฒนาการของเด็กมากครับ ดังนั้นขอเพียงมีเวลาให้ลูกและร่วมกับความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของการกระตุ้นพัฒนาการและสมอง เล่นกับลูกน้อยแทนที่จะให้เขาจม อยู่กับทีวีทั้งวันช่วยเหลือลูกได้แน่นอนครับ หลังจากปิดทีวีและเล่นกับลูกอย่างมีปฏิสัมพันธ์แล้ว เด็กกลุ่มนี้จะเริ่มดีขึ้นเร็ว ภายในเวลา 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ซึ่งต่างจากเด็กออทิสติกซึ่งมักต้องใช้เวลานานจึงจะเริ่มดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจบอกว่าเล่นกับลูกไม่ค่อยเป็น เล่นไม่เก่ง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการเล่นและอาศัยความรักลูกซึ่งพ่อแม่ทุกคนมีอยู่แล้ว เราฝึกได้ครับ การเล่นกับลูกเป็นทักษะ (Skill) อย่างหนึ่ง พยายามเล่นกับลูกบ่อยๆ ก็จะเก่งขึ้นเองครับ การเล่นกับลูกนั้นนอกจากจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกแล้วยังทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักและเข้าใจในตัวลูกมากขึ้น ลูกก็จะรู้จักและเข้าใจในตัวเรา มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการเลี้ยงดูลูกต่อไป
ที่มา : นพ.กมล แสงทองศรีกมล
กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น