ควันขาวภัยที่ไม่ควรมองข้าม

ควันขาวจากจักรยานยนต์

ในปัจจุบันรถจักรยานยนต์ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสภาพการจราจรแออัด จึงต้องการพาหนะที่มีความคล่องตัวสูง และสามารถขับเคลื่อนไปได้ดี รถจักรยายนต์ที่ใช้มี ๒ ประเภท คือ รถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ๒ จังหวะ และ ๔ จังหวะ ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ๒ จังหวะ ได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจากสามารถให้สมรรถนะเป็นที่พอใจแก่ผู้ขับขี่ มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา ซ่อมแซมง่าย

ควันขาว

คือ กลุ่มของละอองน้ำมันหล่อลื่นที่ยังไม่เผาไหม้หรือเผาไหม้เพียงบางส่วน เมื่อกระทบกับบรรยากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ก็จะควบแน่น มองเห็นเป็นควันขาวออกมาจากท่อไอเสีย

สาเหตุของการเกิดควันขาว

เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ จำเป็นต้องมีการหล่อลื่นชิ้นส่วนเคลื่อนไหวต่าง ๆ เช่น เพลาข้อเหวี่ยง ลูกสูบ ผนังกระบอกสูง ตลับลูกปืน ฯลฯ ซึ่งส่วนผสมของอากาศ น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ในส่วนผสมก็จะมีโอกาสสัมผัสกับชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการหล่อลื่นและระบายความร้อน ต่อมาเมื่อส่วนผสมไหลออกมาจากห้องเพลาข้อเหวี่ยงเข้าไปในห้องเผาไหม้ น้ำมันหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบหลักเป็น mineral oil เช่น bright stock ซึ่งเป็นสารที่เผาไหม้ยาก จะไม่ถูกเผาไปพร้อมกับน้ำมันเชื้อเพลิง จึงทำให้บางส่วนของน้ำมันหล่อลื่นเกาะอยู่ตามผนังห้องเผาไหม้ และช่องระบายไอเสีย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะระเหยแล้วผสมกับไอเสียไหลออกสู่บรรยากาศ ไอน้ำมันหล่อลื่นที่ยังไม่เผาไหม้เมื่อกระทบกับบรรยากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าก็จะควบแน่นเป็นละอองน้ำมัน มองเห็นเป็นควันขาวที่ออกจากท่อไอเสียอย่างชัดเจน

น้ำมันหล่อลื่น

โดยทั่วไปคุณสมบัติของน้ำมันหล่อลื่นที่ดี ควรมีความสามารถในการหล่อลื่นสูง มีความต้านทานการครูดกร่อนของกระบอกสูบได้ดี มีความต้านทานต่อการติดเกาะของแหวนลูกสูบ ไม่ทำให้เกิดเขม่าแข็งอุดตันที่ช่องระบายไอเสีย และทำให้เกิดควันขาวน้อย แต่น้ำมันหล่อลื่นแบบธรรมดาส่วนใหญ่มักใช้ mineral oil เป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งจะให้สมรรถนะในการหล่อลื่นที่ดี แต่มีข้อเสียคือ ทำให้เกิดควันขาวมาก และเกิดเขม่าแข็งอุดตันช่องระบายไอเสีย ปัจจุบันได้กำหนดมาตรฐานน้ำมันหล่อลื่นแบบลดควันขาว (Low Smoke) เป็นมาตรฐานบังคับ ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นที่ได้มาตรฐานต้องทำให้เกิดควันขาวน้อยกว่าร้อยละ 30
อันตรายของควันขาว

อันตรายต่อร่างกาย

ทำให้มีอาการแสบและระคายเคืองตา
ระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ
ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
อันตรายต่อสภาพแวดล้อม
ทำให้เกิดสภาพหมอกควัน บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น
อันตรายต่อเครื่องยนต์
เกิดการอุดตันที่ช่องระบายไอเสียในเวลาอันรวดเร็วทำให้ไอเสียระบายออกได้ลำบาก
จังหวัดการระบายไอเสียผิดไปจากเดิม
เครื่องยนต์มีสมรรถนะต่ำ แรงม้าลดลง
ต้องทำการซ่อมบำรุงบ่อย

วิธีที่จะลดปริมาณควันขาว

การลดอัตราส่วนผสมระหว่างน้ำมันหล่อลื่นต่อน้ำมันเชื้อเพิลง แต่ยังคงรักษาสมรรถนะในการหล่อลื่นให้คงที่ ซึ่งทำให้ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันหล่อลื่นและวัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องยนต์ให้ดีขึ้นตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต
การลดหรือเปลี่ยนองค์ประกอบหลักจาก mineral oil โดยใช้สารตัวใหม่ เช่น สาร polyisobutene ซึ่งสามารถทำหน้าที่ในการหล่อลื่นได้เหมือนกับ mineral oil และก่อให้เกิดควันขาวน้อย
ประชาชนควรบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อป้องกันและลดควันขาว

ไม่ควรปรับแต่งวาล์วจ่ายน้ำมันหล่อลื่นให้มากขึ้นกว่าเดิมจากที่บริษัทกำหนดไว้
ใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิดลดควันขาว (Low Smoke Oil) ที่ได้รับมาตรฐาน สมอ.
ไม่เติมน้ำมันหล่อลื่นในถังน้ำมันเชื่อเพลิง
หมั่นตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามคำแนะนำของผู้ผลิตอยู่เสมอ

ที่มา : 88db.com