น้ำหอมปรับอากาศ สารซักล้าง... ภัยใกล้ตัว

หลายคนอาจจะเคยชินกับการใช้น้ำหอมปรับอากาศเพื่อไล่กลิ่นอับๆในห้องนอนหรือรถยนต์ แล้วเราก็เชื่อว่าหลายๆคนก็คงชอบใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มหรือผงซักฟอกเยอะๆ เพราะชอบ กลิ่นหอมๆหลังซักผ้าเสร็จ เรามาดูกันดีกว่าว่าศาสตราจารย์ชาวอเมริกันเขาเจออะไรในกลิ่นหอมๆพวกนี้

จากรายงานการศึกษาสารซักล้างและน้ำหอมปรับอากาศยี่ห้อดังของสหรัฐอเมริกา 6 ยี่ห้อโดยมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ปล่อยสารระเหยออกมาหลายสิบชนิด และ ในผลิตภัณฑ์ 6 ยี่ห้อที่ศึกษา นั้นจะมีสารอันตรายตามกฎหมายสหรัฐฯอย่างน้อยหนึ่งอย่าง โดยที่ชื่อสารเหล่านั้นไม่มีปรากฏอยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์เลย

"งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มต้นมากจากการได้ยินคนหลายๆคนบ่นว่าน้ำหอมปรับอากาศที่ใช้ในห้อง น้ำสาธารณะหรือน้ำหอมในสารซักล้างทั้งหลายทำให้พวกเขารู้สึกปวดหัว คลื่นไส้" Anne Steinemann ศาสตราจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน "ฉันจึงถามตัวเองว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้มันมีอะไรอยู่นะ ทำไมมันถึงทำให้คนรู้สึกป่วยได้" นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มค้นหาสารเคมีเหล่านี้

"ฉันตกใจมากเมื่อพบทั้งปริมาณและความรุนแรงของสารเคมีซึ่งเป็นอันตรายเหล่านี้ในของใกล้ตัวพวกนี้" ศาสตราจารย์ Steinemann กล่าว สารเคมีที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ อะซีโทน ซึ่งพบได้ทั่วไปในทินเนอร์และน้ำยาล้างเล็บ ลิโมนนีน โมเลกุลซึ่งให้กลิ่นส้ม อะซิทิลดีไฮนด์ คลอโรมีเทน และ 1,4 ไดออกเซน



"มีสารอินทรีย์ที่ระเหยได้กว่าหนึ่งร้อยชนิดจากผลิตภัณฑ์ 6 ประเภทที่เลือกมา 5 จาก 6 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารระเหยที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ตามมาตรฐานของ Environmental Protection Agency หรือ กรมควบคุมมลพิษ ของสหรัฐแล้ว สารเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่ในอากาศเลยด้วยซ้ำ" ศาสตราจารย์ Steinmann กล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ทางอินเตอร์เน็ตในวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในวารสารวิชาการ Environmental Impact Assessment Review โดยมิได้เอ่ยชื่อยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ที่เธอศึกษา เธอยังได้ขยายขอบเขตการศึกษาให้่กว้างขึ้น และส่งงานวิจัย ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำหอมปรับอากาศ สารซักล้างและ ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล หลากหลายยี่ห้ออีกรวม 25 ชนิด ซึ่งได้ค้นพบสารเคมีอันตรายเช่นเดียวกัน เพื่อรอการตีพิมพ์

เพราะตามกฎหมายแล้ว ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลไม่จำเป็นต้องเปิดเผยส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ Steinemann จึงต้องวิเคราะห์องค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วยตนเอง เธอเลือกศึกษาน้ำหอมปรับอากาศ 3 ชนิด (แบบก้อน แบบกระป๋องสเปรย์และแบบน้ำมันหอมระเหยที่ต้องเสียบปลั๊ก) สารซักล้าง 3 ประเภท (น้ำยาปรับผ้านุ่มแบบแผ่น น้ำยาปรับผ้านุ่มแบบน้ำและผงซักฟอก) โดยเลือกเอายี่ห้อที่ขายดีีที่สุดในแต่ละประเภท โดยซื้อผลิืตภัณฑ์เหล่านี้จากร้านค้าทั่วไปและขอตัวอย่างสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมจากโรงงาน ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกเก็บแยกกันในห้องแล็ปที่อุณหภูมิปกติ หลังจากนั้นเธอก็เก็บตัวอย่างอากาศโดยรอบมาตรวจสอบหาสารระเหยอินทรีย์ ซึ่งออกมาจากผิวหน้าของผลิตภัณฑ์เหล่านี้

จากผลการทดลองพบว่า มีสารระเหยอินทรีย์ 58 ชนิดที่มีค่าความเข้มข้นในบรรยากาศเกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และมีสารหลายชนิดที่พบในผลิตภัณฑ์มากกว่าหนึ่งประเภท ยกตัวอย่างเช่น น้ำหอมปรับอากาศแบบน้ำมันหอมระเหยที่ต้องเสียบปลั๊ก มีสารระเหยอินทรีย์มากกว่า 20 ชนิด และ 7 จาก 20 ชนิดนี้ตามกฎหมายแล้วถือเป็นสารอันตรายหรือเป็นพิษ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ รายชื่อสารเหล่านี้ไม่มีอยู่บนฉลากของผลิตภัณฑ์ และข้อมูลในเอกสารการใช้งานของสารเคมีเหล่านี้ในโรงงานก็บอกเพียงว่าสารนี้เป็น "น้ำมันหอมระเหยหลายชนิด"

ถึงแม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้จะไม่ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพของผู้บริโภคกับการได้รับสารเคมีที่กล่าวมาข้่างต้น แต่งานสำรวจข้อคิดเห็นสองชิ้น ของศาสตราจารย์ Steinemann และผู้ช่วยของเธอในปี 2004 และ 2005 ก็แสดงให้เห็นว่า 20% ของประชากรได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้น้ำหอมปรับอากาศ และ 10% ของประชากรคิดเช่นเดียวกันกับสารซักล้าง นอกจากนี้ ผู้ป่วยด้วยโรคหอบหืดก็มักจะได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหล่านี้มากกว่าคนทั่วไปถึงสองเท่า

เนื่องจาก กฎหมายมิได้บังคับให้ ผู้ผลิตพิมพ์รายชื่อของสารเคมีที่ใช้ในสารซัีกล้างและน้ำหอมปรับอากาศ น้ำหอมทั้งหลาย รวมทั้งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล สารทำความสะอาด จึงไม่มีการพิมพ์องค์ประกอบของน้ำหอมเหล่านี้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ น้ำหอมยังอันตรายกว่าองค์ประกอบอื่นๆเพราะบางครั้งเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการใช้ของผู้อื่นได้

ดังนั้น ถ้าเลือกได้ เราควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมปรับอากาศ แล้วมาเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทมากขึ้น แล้วก็เลือกใช้สารซักล้างที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอมดีกว่า เพราะเราเองก็บอกไม่ได้ว่ามีอะไรอยู่ในน้ำหอมเหล่านั้นบ้าง

อ้างอิง:
University of Washington (2008, July 24). Toxic Chemicals Found In Common Scented Laundry Products, Air Fresheners. ScienceDaily . Retrieved July 26, 2008, from file:///D:/Users/300007717/My%20Documents/Vcharkarn/Toxic%20Chemicals%20Found%20In%20Common%20Scented%20Laundry%20Products,%20Air%20Fresheners.htm