การบริโภคอาหารในแต่ละครั้ง ควรพึงระวังสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่อาจมีสารเคมีตกค้างอยู่ในส่วนประกอบของอาหาร น้ำส้มสายชู เป็นส่วนผสมหนึ่งในการใช้ปรุงแต่งอาหารทั่วไป และสามารถพบเห็นบ่อยครั้ง คือในพริกดอง ปัจจุบันน้ำส้มสายชูแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ น้ำส้มสายชูหมัก น้ำส้มสายชูกลั่น และน้ำส้มสายชูเทียม ซึ่งน้ำส้มทั้งสามชนิดนี้ ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตรายต่อร่างกาย แต่มีน้ำส้มสายชูอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรระวังและมีอันตรายในการรับประทานเข้าไป คือ น้ำส้มสายชูปลอม ที่มีกรรมวิธีแยบยลของพ่อค้าหัวใส่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หวังรวยทางลัดโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย เพียงแค่นำเอาหัวน้ำส้มมาเจือจางผสมกับน้ำแล้วบรรจุขวด ซึ่งความอันตรายของหัวน้ำส้มดังกล่าวมีความเป็นกรดน้ำส้มชนิดเข้มข้นที่ใช้ในอุตสาหกรรม สิ่งทอฟอกหนัง ขนสัตว์ ไม่สมควรนำมาบริโภค
นอกจากนี้ยังมีน้ำกรดแร่อื่น ๆ เช่น กรดเกลือ กรดกำมะถันที่นำมาใช้ทำหัวน้ำส้ม หรือน้ำส้มสายชูปลอมเปรี้ยวเข็ดฟัน แต่จะไม่มีกลิ่นของกรดน้ำส้ม จึงต้องมีการนำน้ำส้มสายชูหมักเติมลงไปเพื่อทำให้กลิ่นเสมือนน้ำส้มสายชูหมัก และถ้ารับประทานเข้าไปมาก ๆ จะกัดกระเพาะอาหาร ลำไส้จนเกิดแผล หรืออาจถึงกับกระเพาะและลำไส้ทะลุได้
ข้อพึงระวังและทดสอบง่าย ๆ ที่จะทำให้ทราบว่าเป็นน้ำส้มสายชูจริงหรือปลอม ต้องใช้น้ำยาสีม่วงที่ป้ายลิ้นเด็ก หรือที่เรียกว่า ยาเยนเชียนไวโอเล็ต มาหยดในน้ำส้ม 2-3 หยด ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูปลอมสีจะเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงิน หรือเขียว หรือใช้ผักชีจุ่มลงไปในน้ำส้ม ถ้าปลอมผักชีจะมีลักษณะตายนึ่ง สีเขียวของผักชีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพียง 5 นาที ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังในการทานอาหาร ที่เป็นส่วนผสมจะต้องรอบคอบ และรู้จักสังเกต ก็จะมีความปลอดภัยในการรับประทานอาหารอย่างอร่อย.
จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
น้ำส้มสายชูปลอม
ป้ายกำกับ:
น้ำส้มสายชูปลอม